วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

จุรินทร์” เผยยอดร้องเอเน็ตล่าสุด 201 ราย เรียก 21 สถาบันถก ลั่น “อุเทน-ปทุมวัน” ต้องใช้ยาแรง

“จุรินทร์” เผยยอดร้องปัญหาเอเน็ตล่าสุดมี 201 รายจาก 140 ศูนย์ทั่วประเทศ ระบุต้องรอประมวลผลก่อนที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจะจัดการ เผยเชิญ 21 สถาบันมาร่วมถกหาทางออก พร้อมประกาศใช้ยาแรงขึ้นหลังช่างกลปทุมวัน-อุเทนถวายตะลุมบอลกัน วันนี้ (11 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่มีนักเรียนร้องเรียนเกี่ยวกับการสมัครสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสูง (เอเน็ต) เพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาว่า ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการรับเรื่องร้องเรียนซึ่งทางกระทรวงศึกษาได้ขยายศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์จำนวน140 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยจะเปิดโอกาสให้ร้องเรียนได้จนถึงวันที่ 14 ก.พ.นี้ ก่อนจะสรุปผล โดยขณะนี้มีเด็กนักเรียนมาร้องเรียนแล้ว 201 ราย แบ่งเป็นเด็กต่างจังหวัดจำนวน 69 ราย ส่วนการพิจารณาตรวจสอบจะต้องรอฟังผลทั้งหมดก่อน จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) จะไปดำเนินการว่าจะหาทางออกอย่างไร เพราะอำนาจในการรับนักศึกษาขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการศึกษา นอกจากนี้ตนจะเชิญอธิการบดี 21 สถาบันที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการรับนักศึกษามาหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกในเรื่องดังกล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบเสถียรภาพรัฐบาลกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง และไม่คิดจะใช้อำนาจทางการเมืองไปทำให้ระบบเสียหาย เพียงแต่ขอให้สกอ.ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ซึ่งอยู่ในขอบเขตอำนาจของตนที่สามารถทำได้ สำหรับกรณีที่นักศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีปทุมวันและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ทะเลาะวิวาทหลังจากที่ประกาศยุติศึกไปก่อนหน้านี้นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนคิดว่าจะต้องใช้ยาแรงขึ้น โดยให้ สกอ.รับไปหาแนวทางวินิจฉัยโรคว่าเกิดจากอะไรและจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งสองรวมถึงสถาบันอุดมศึกษาที่มีปัญหาเดียวกันอย่างไร และจะมอบหมายให้นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการทำหนังสือไปถึงสภามหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ส่วนจะต้องใช้ยาแรงถึงขั้นสั่งปิดทั้งสองสถาบันหรือไม่นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า จะมอบหมายให้ทาง สกอ.รับไปพิจารณาว่าจะใช้ยาแรงถึงขนาดไหนถึงขั้นต้องสั่งปิดสถาบันหรือไม่และถ้าพบว่ามีบุคคลากรของสถาบันเข้าไปเกี่ยวข้องอาจจะพิจารณาความผิดทั้งทางวินัยและอาญา และเมื่อเวลาประมาณ 12.30 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา ได้ออกหนังสือ ศธ 0508/1645 เรื่องประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องนโยบายและมาตรการป้องกันนักเรียนนักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาทและทำร้ายกัน ซึ่งหนังสือดังกล่าว เป็นการประชุมปรึกษาหารือเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์เป็นประธานการประชุม ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีข้อสรุปว่า นอกจากข้อสรุปนโยบายและมาตรการ 10 ข้อของกระทรวงฯ (คลิกอ่านรายละเอียดมาตรการ 10 ข้อได้ ที่นี่!) ที่ประชุมยังเสนอให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ดำเนินการเพิ่มเติมดังนี้ 1. ควบคุมมิให้มีการดื่มสุราในมหาวิทยาลัย/สถาบัน เนื่องจากการดื่มสุราเป็นปัจจัยหลักในการนำไปสู่การทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันและยังเป็นการละเมิดพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 31 (5) ที่ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ยกเว้นบริเวณที่จัดเป็นที่พักส่วนบุคคลหรือสโมสร ตามมาตรา 41 “หากผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. ให้มีการทำประวัตินักศึกษาทุกปี เพื่อจะได้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ทันสมัยสำหรับใช้ตรวจสอบเมื่อนักศึกษาเป็นบุคคลต้องสงสัย 3. ให้มีการติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิดในบริเวณหน้าสถาบัน บริเวณจุดอับและแหล่งมั่วสุม 4. มีการป้องกันมิให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาชักชวนนักศึกษาไปในทางเสียหายหรือก่อกวนการเรียนการสอน 5. ให้มีการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างสถาบันเพื่อให้เกิดความรักความสามัคคีและบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคมร่วมกัน สำหรับบรรยากาศในช่วงประมาณ 12.50 น. ที่โรงแรมเอเชีย ห้องประกายเพชร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาจารย์จากทั้งสองสถาบัน ได้เดินทางมาประชุมร่วมกันประมาณ 30 คน การหารือเป็นไปอย่างค่อนข้างตึงเครียดและไม่อนุญาตให้สื่อเข้าไปร่วมฟัง มีการเชิญผู้สื่อข่าวออกไปนอกห้อง โดยความคืบหน้าในส่วนของผลการประชุม ผู้สื่อข่าวจะรายงานให้ทราบต่อไป

2 ความคิดเห็น:

  1. เป็นข้อความที่น่าสนใจ และติดตามการแก้ปัญหาของรัฐบาล

    ตอบลบ
  2. ประเด็นร้อนเลยนะเนี่ย

    ตอบลบ

เชิญแสดงความคิดเห็น